top of page

วารสาร K SME Inspired ฉบับที่78 ประจำเดือน ตุลาคม 2563

e-Withholding Tax ทางเลือกใหม่ ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย

โดยศิริรัฐ โชติเวชการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Network Advisory Team Ltd.

 

ที่ผ่านมาธุรกิจเอสเอ็มอีมักคุ้นเคยกับการใช้บริการจากสำนักงานบัญชีในการยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย เช่น กรณีจ่ายค่าบริการที่ต้องหักภาษี 3% ให้ผู้ให้บริการที่วางบิลมา 100 บาท ผู้จ่ายก็จะขำระเงินให้กับผู้ให้บริการ 97 บาท แล้วออกหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้ 3 บาท ไปพร้อมกับการจ่ายเงิน

จากนั้นสิ้นเดือนก็จะรวบรวมสำเนาหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย ส่งให้สำนักงานบัญชี ซึ่งจะรวบรวมไปจัดทำ รายงานภาษีหัก ณ ที่จ่าย นำส่งต่อ กรมสรรพากร ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

หากมีการพลั้งเผลอนำส่งหนังสือรับรองฯ ให้สำนักงานบัญชีไม่ครบ และ สำนักงานบัญชีตรวจสอบไม่เจอ หรือที่เคยเป็นปัญหาคือ สำนักงานบัญชีบางแห่งเรียกเก็บเงินค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากลูกค้า แต่ไม่นำส่งให้กรมสรรพากร นั่นหมายถึงการนำส่งภาษีขาดไป ซึ่งหากมีการตรวจสอบภาษีแล้วเจอ ก็จะต้องเสียภาษีย้อนหลัง บวกเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของจำนวนภาษีที่ขาดไป

ในส่วนของผู้ให้บริการก็ต้องรวบรวมหนังสือรับรองฯ ที่ถูกหักภาษีเก็บไว้ เพื่อเป็นหลักฐานในการนำไปเครดิตภาษี พร้อมๆ กับการยื่นภาษีเงินได้ ไม่ว่าจะในรูปของเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล หากตกหล่นไป นั่นหมายถึงการยื่นรายได้ไม่ครบถ้วน หรือถ้ายื่นรายได้ครบ แต่มีหนังสือรับรองฯ ไม่ครบก็จะนำไปเครดิตภาษีไม่ได้เช่นกัน

หากทบทวนดูแล้ว ระบบหักภาษี ณ ที่จ่าย สร้างภาระมากมาย มีความสิ้นเปลืองทั้งค่าเสียเวลาในการจัดทำ ค่ากระดาษ ค่านำส่ง รวมไปถึง ความเสี่ยงในการเสียภาษีและเงินเพิ่มย้อนหลังกรณีนำส่งไม่ครบ

 

แต่ในยุค New Normal ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ นับได้ว่าเป็นทางเลือกใหม่ของระบบ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการรับชำระเงิน จากธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ e-Withholding Tax กับ กรมสรรพากร (KBank ก็เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ) เมื่อมีการจ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับเงินทั้งในและต่างประเทศ ผู้จ่ายเงินได้ประเภท ที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องแจ้งข้อมูลดังต่อไปนี้ ให้ธนาคารทราบ

1.เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน

2.ชื่อหรือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้รับเงิน

3.ระบุประเภทของเงินได้พึงประเมิน และ จำนวนเงินได้ที่ผู้จ่ายเงินได้นำส่ง

4.จำนวนภาษีที่หักหรือนำส่ง

ธนาคารในฐานะผู้ให้บริการรับชำระเงินจะมีหน้าที่ เป็นตัวกลางในการรับเงินจำนวนดังกล่าว หักภาษี ตามยอดที่แจ้ง และนำส่งเงินภาษีให้กับกรมสรรพากร แทนการยื่นแบบเป็นกระดาษหรือผ่านอินเทอร์เน็ต (e-Filing)

ในขณะเดียวกัน ธนาคารผู้ให้บริการฯ จะออกหลักฐานแสดงการรับชำระเงินภาษีให้แก่ผู้จ่ายเงิน และผู้รับเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้จ่ายเงินจะได้รับใบเสร็จรับเงินจากกรมสรรพากรเป็นอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนผู้รับก็ไม่ต้องเก็บหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย เป็นกระดาษอีกต่อไป เนื่องจากจะสามารถตรวจสอบข้อมูลภาษีของตนได้ที่ Web Portal ของกรมสรรพากร

 

นอกจากจะได้รับความสะดวก ลดความเสี่ยง และประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นแล้ว กรมสรรพากรยังใจดีออกมาตรการจูงใจให้มาใช้บริการฯ โดยลดอัตรา ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ประเภทเงินได้ที่เคยหัก 3% เป็น 2% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2563- 31 ธันวาคม พ.ศ.2564

เท่านั้นยังไม่พอ ทั้งธนาคารผู้ให้บริการระบบ e-Withholding Tax และ ผู้หัก ณ ที่จ่ายผ่านระบบ e-Withholding Tax ยังสามารถนำรายจ่ายเพื่อการ ลงทุนในระบบ e-Withholding Tax มาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี เงินได้นิติบุคคล ได้ถึง 2 เท่า และสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ ผู้ที่ใช้ บริการ e-Withholding Tax จะได้รับการจัดให้เป็นผู้ประกอบการกลุ่มดีได้ง่ายขึ้น ทำให้ถูกตรวจสอบน้อยลงและกรณีมีการขอคืนภาษี ก็จะได้รับคืนเงินภาษีเร็วขึ้น หากท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากธนาคารที่ให้บริการ

 

หมายเหตุ : บริการดังกล่าวนี้ ยังรวมถึงบริการ “นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม” เมื่อมีการชำระค่าสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศด้วย แต่ในที่นี้ ขอเน้นเฉพาะเรื่องภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย

K SME Inspired #78 Page 65 - 69

bottom of page